|
รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร และการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2552 และเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ปั้นจั่น เป็นเครื่องจักรที่ใช้ยกสิ่งของขึ้นลงตามแนวดิ่ง และเคลื่อนย้ายสิ่งของในลักษณะแขวนลอยไปตามแนวราบ และไม่ว่าจะใช้งานในลักษณะไหน ก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรด้วยค่ะ ในเดือนนี้มีข้อแนะนำการใช้อุปกรณ์ที่ใช้เกี่ยวกับปั้นจั่น (จากแหล่งที่มา ส่วนที่ 5 หน้า 4 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126 ตอนที่ 38ก ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2552) มาแนะนำให้กับผู้ใช้งานได้รับทราบกันค่ะ |
|
อุปกรณ์ที่ใช้เกี่ยวกับปั้นจั่น |
|
ข้อ. 75 ห้ามนายจ้างใช้ลวดสลิงที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้ |
1) ลวดสลิงที่ลวดเส้นนอกสึกไปตั้งแต่หนึ่งในสามของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นลวด |
2) ลวดสลิงที่ขมวด ถูกบดกระแทก แตกเกลียวหรือชำรุด ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพในการใช้งานของลวดสลิงลดลง |
3) ลวดสลิงมีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กลงเกินร้อยละห้าของเส้นผ่านศูนย์กลางเดิม |
4) ลวดสลิงถูกความร้อนทำลายหรือเป็นสนิมมากจนเห็นได้ชัดเจน |
5) ลวดสลิงถูกกัดกร่อนชำรุดมากจนเห็นได้ชัดเจน |
6) ลวดสลิงเคลื่อนที่ที่มีเส้นลวดในหนึ่งช่วงเกลียว ขาดตั้งแต่สามเส้นขึ้นไปในเกลียวเดียวกันหรือขาดตั้งแต่หกเส้นขึ้น
ไปในหลายช่วงเกลียวรวมกัน |
7) ลวดสลิงยึดโยงที่มีเส้นลวดขาดตรงข้อต่อตั้งแต่สองเส้นขึ้นไปในหนึ่งช่วงเกลียว |
|
ข้อ. 76 ห้ามนายจ้างใช้ลวดสลิงที่มีค่าความปลอดภัยน้อยกว่าที่กำหนดไว้ ดังต่อไปนี้ |
1) ลวดสลิงเคลื่อนที่ ต้องมีค่าความปลอดภัยไม่น้อยกว่า 6 |
2) ลวดสลิงยึดโยง ต้องมีค่าความปลอดภัยไม่น้อยกว่า 3.5 |
|
ข้อ. 77 ห้ามนายจ้างใช้รอกที่มีอัตราส่วนระหว่างเส้นผ่านศูนย์กลางของรอก หรือล้อใดๆ กับเส้นผ่านศูนย์ กลางของลวดสลิงที่พันน้อยกว่าที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้ |
1) สิบแปดต่อหนึ่ง สำหรับรอกปลายแขนปั้นจั่น |
2) สิบหกต่อหนึ่ง สำหรับรอกของตะขอ |
3) สิบห้าต่อหนึ่ง สำหรับรอกหลังแขนปั้นจั่น |
|
ข้อ. 78 ห้ามนายจ้างใช้อุปกรณ์สำหรับการผูก มัด หรือยึดโยงวัสดุที่มีค่าความปลอดภัยน้อยกว่าที่กำหนดไว้ ดังต่อไปนี้ |
1) ลวดสลิง ต้องมีค่าความปลอดภัยไม่น้อยกว่า 5 |
2) โซ่ ต้องมีค่าความปลอดภัยไม่น้อยกว่า 4 |
3) เชือก ต้องมีค่าความปลอดภัยไม่น้อยกว่า 5 |
4) ห่วงหรือตะขอ ต้องมีค่าความปลอดภัยไม่น้อยกว่า 3.5 |
5) อุปกรณ์สำหรับผูก มัด หรือยึดโยงอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ใน (1) ถึง (4) ต้องมีค่าความปลอดภัยไม่น้อยกว่า 3.5 |
|
ข้อ. 79 นายจ้างต้องจัดหาวัสดุที่มีความทนทานและอ่อนตัวมารองรับบริเวณจุดที่มีการ สัมผัสระหว่างอุปกรณ์ที่ใช้ในการผูก มัด หรือยึดโยง และวัสดุที่ทำการยกเคลื่อนย้าย |
|
ข้อ. 80 ในการยกเคลื่อนย้ายวัสดุ นายจ้างต้องให้ลูกจ้างผูก มัด หรือยึดโยงวัสดุโดยมีมุมองศาระหว่างอุปกรณ์สำหรับการผูก มัด หรือยึดโยง และวัสดุที่จะทำการยกไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าองศา |
|
กรณีที่มีความจำเป็นต้องทำการผูก มัด หรือยึดโยงด้วยมุมองศาที่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง นายจ้างต้องกำหนดให้มีการคำนวณแรงรับน้ำหนักของอุปกรณ์สำหรับการผูก มัด หรือยึดโยงเพื่อให้เกิดความปลอดภัย |
|
ข้อ. 81 ห้ามนายจ้างใช้ตะขอที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ เว้นแต่นายจ้างได้ทำการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ และต้องมีการทดสอบการรับน้ำหนักได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งจุดสองห้าเท่าของน้ำหนัก สูง สุดที่อนุญาตให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัยโดยวิศวกร |
1) มีการบิดตัวของตะขอตั้งแต่สิบองศาขึ้นไป |
2) มีการถ่างออกของปากเกินร้อยละสิบห้า |
3) มีการสึกหรอที่ท้องตะขอเกินร้อยละสิบ |
4) มีการแตกหรือร้าวส่วนหนึ่งส่วนใดของตะขอ |
5) มีการเสียรูปทรงหรือสึกหรอของห่วงตะขอ |
|
ให้ไว้ ณ วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
ไพฑูรย์ แก้วทอง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
|
|
|
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นข้อห้ามในการใช้งานอุปกรณ์ลวดสลิงค่ะ และยังมีข้อกำหนดในการใช้อุปกรณ์ชนิดอื่นๆ อีกมากที่ผู้ใช้งานต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลักค่ะ และในครั้งหน้าดิฉันจะมาแนะนำในส่วนอื่นๆ ให้ลูกค้าทุกท่านได้รับทราบกันต่อค่ะ |
|